Wednesday, August 8, 2012

บ้านจริงตามจินตนาการ





ผมชอบพาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่แปลกใหม่เพื่อสัมผัสถึงความหมายและความรู้สึกของแต่ละสถานที่ ซึ่งสร้างประสบการณ์ในการรับรู้ที่ต่างออกไป การทำงานเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารเกี่ยวกับบ้านและการตกแต่ง ทำให้ผมได้พบเจอบ้านสวย บ้านที่ลงตัว และบ้านที่น่าอยู่ที่สุด... เช่นเดียวกับบ้านที่ผมจะพาไปพบในฉบับนี้ บ้านหลังนี้น่าทึ่งด้วยสถานที่ตั้งและการออกแบบ

บ้านสองชั้นหลังนี้ตั้งอยู่ริมทะเลในจังหวัดจันทบุรี เจ้าของบ้านคือ Mr. Matthias Heitmann ช่างภาพชาวเยอรมัน ออกแบบโดย คุณจูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design พื้นที่ของบ้านด้านหนึ่งติดกับถนนทางเข้าหลัก ส่วนอีกด้านเป็นพื้นที่ลาดลงไปสู่ชายหาด คุณจูน สถาปนิกจึงออกแบบให้ตัวบ้านเปิดรับมุมมองสู่ท้องทะเลให้มากที่สุด อีกทั้งยังเปิดรับลมทะเลที่พัดมาตลอดทั้งวันด้วย
ผมอยู่ด้านหน้าบ้านที่ออกแบบเป็นบันไดเดินเข้าสู่ทางเข้าหลัก เนินดินและสวนออกแบบให้ล้อกับบันไดนี้ ประตูบานไม้เปิดกว้างพาผมไปยังส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และส่วนเตรียมอาหารที่เชื่อมถึงกันโดยไร้ผนังกั้น พื้นที่นี้โอบล้อมด้วยประตูกระจกใส มองเห็นท้องทะเลได้ไกลสุดสายตา ตอนนี้เป็นเวลาบ่ายสามโมง แสงแดดเริ่มเปลี่ยนองศา เงาจากชายคาทอดยาวกินพื้นที่เข้ามาภายในห้องมากขึ้น ส่วนหนึ่งก่อให้เกิดแสงสะท้อนที่เกิดจากสระว่ายน้ำซึ่งอยู่ด้านข้าง สร้างมิติให้ตัวบ้านได้อย่างน่าทึ่ง คุณจูนพูดถึงแนวคิดหลักของบ้านหลังนี้ว่า
“ตอนแรกพื้นที่นี้ยังเต็มไปด้วยต้นไม้ พื้นที่เป็นสโลปลาดลงไปยังทะเล ภาพในความคิดแรกคือการสร้าง ‘กล่อง’ ขึ้นมาสักหนึ่งถึงสองใบ และผมจะนำลักษณะทางกายภาพของกล่องนี้ คือระนาบแนวตั้งและระนาบแนวนอนวางไปบนพื้นที่หน้าผานี้ ระนาบแนวตั้งคือผนัง ทำให้เกิดพื้นที่ระหว่างระนาบนี้ที่หันสู่ทะเล แล้ววางระนาบแนวนอนคือพื้นและเพดานระหว่างระนาบแนวตั้ง กลายเป็นพื้นที่ใช้สอย (Space) และเกิดแกนที่ตัดกันของสองแกนในตัวบ้านหลัก เป็นจุดรวมของทางสัญจรจากหน้าบ้านเข้าสู่ตัวบ้าน และบ้านลงสู่ทะเล ผมเลือกวางตำแหน่งสระว่ายน้ำไว้ด้านหน้าอาคารขนานไปกับเส้นนอนของทะเล ให้ความรู้สึกว่าทะเลเข้ามาใกล้ชิดเรา และช่วยทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อนแสงเข้ามาภายในบ้าน ให้เกิดอีกมิติและอารมณ์”
สองเท้าก้าวเดินชมความงามและความลงตัวภายในบ้านอย่างเพลิดเพลิน ผมเดินขึ้นมาบนชั้นสองซึ่งเป็นห้องนอนทั้งหมด 3 ห้อง กับห้องน้ำอีก 1 ห้อง ห้องนอนทุกห้องเปิดมุมมองสู่ท้องทะเลโดยมีระเบียงเล็กๆเป็นตัวกั้น พื้นที่ที่เป็นหลังคาของชั้นล่างใช้เป็นระเบียงไม้ของชั้นสอง ระเบียงนี้ทั้งมีวิวดีและกว้าง เหมาะกับการสังสรรค์และพบปะพูดคุยกับพี่น้องและผองเพื่อนจริงๆ
เจ้าของบ้านหลังนี้มีความชัดเจนว่าต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร อย่างผนังก็ชอบแบบไม่ต้องทาสี ใช้วัสดุจริงไปเลย ชอบความชัดเจนของที่ว่าง การตัดกันของวัสดุ และตั้งชื่อบ้านนี้ว่า “บ้านจัน” เพราะว่าตั้งอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี หน้าทะเลจันท์ และเจ้าของบ้านตั้งใจให้บ้านนี้มีจุดชมจันทร์และจุดชมดวงอาทิตย์ตกดิน “ผมว่าชื่อ ‘บ้านจัน’ ดูง่ายๆและไทยๆดีครับ”
ด้วยทำเลของบ้านที่ตั้งอยู่ริมทะเลอาจมีปัญหาทำให้วัสดุผุพังง่าย ซึ่งมักเกิดกับโลหะเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่วัสดุโลหะของบ้านหลังนี้ใช้อะลูมิเนียมทั้งหมด วงกบหน้าต่างใช้สีพาวเดอร์โค้ดอบไฟฟ้า สีจึงติดแน่น และใช้ขนาดหน้าตัดที่หนากว่าปกติ เพื่อป้องกันคราบสนิมจากลมทะเล นอกจากนี้แม้ตัวอาคารจะเป็นกล่อง แต่ก็ออกแบบให้มีทางให้ลมผ่านได้สะดวก จึงลดแรงปะทะจากลมแรงๆได้ ผนังที่ขัดมันก็มีการใช้น้ำยารักษาคอนกรีต ช่วยให้การใช้งานทนทานมากขึ้นในระดับหนึ่ง
แสงสุดท้ายของวันกำลังจะหมดไป ผมและทีมงานเดินถ่ายรูปบ้านหลังนี้กันอย่างเพลินใจ มีคนเคยบอกว่าบ้านของคนอื่นน่าอยู่กว่าบ้านของเราเสมอ บางครั้งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆนะ...เราเดินมาหยุดอยู่ที่ระเบียงริมสระว่ายน้ำที่หันหน้าออกสู่ท้องทะเล จินตนาการถึงช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังตกดิน อีกไม่นานดวงดาวและดวงจันทร์คงออกมาอวดโฉมให้ได้เห็นอย่างสวยงาม...
ลองหลับตาและจินตนาการดูสิครับ

DESIGN DETAILS
A. กำแพงกันดิน ตัวบ้านวางอยู่บนพื้นที่ที่ลาดลง แต่ตัวบ้านต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ราบตรง จึงต้องมีการขุดพื้นดินและปรับให้เรียบ การสร้างกำแพงกันดินในด้านที่ติดกับเนินดินเดิมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ห้ามลืม อีกทั้งยังเป็นการทำให้ตัวบ้านดูกลมกลืนไปกับพื้นที่ตั้งด้วย
B. จากเส้นสายกลายเป็นบ้าน ภาพแสดงแนวคิดที่วาดบนพื้นที่เดิม เส้นตรงจากผังพื้นเมื่อก่อตัวขึ้นมากลายเป็นรูปทรงสามมิติ สร้างการรับรู้ที่น่าสนใจ ทั้งเชื้อเชิญและน่าค้นหา
C. ช่องสำหรับลมทะเล บ้านหลังนี้มีช่องทางสำหรับลม เพื่อให้ระบายอากาศร้อนออกไปได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็คือทางเดินรอบบ้านนั่นเอง เมื่อมีการเปิดประตูทั้งหมด บ้านหลังนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย
http://www.baanlaesuan.com

No comments:

Post a Comment